Checklist 6 เรื่องต้องรู้ สำหรับมือใหม่
1 รู้จักตนเอง
สำหรับคนที่ยังไม่รู้จะเริ่มยังไง จับต้นชนปลายไม่ถูก เราลองมาเริ่มจาก “รู้จักตัวเอง” ให้ลึกซึ้งขึ้น ลองถามตัวเองว่า... เรามี เป้าหมายการลงทุนอะไร? ต้องการใช้เงินมากน้อยแค่ไหน? และ ต้องการบรรลุเป้าหมายเมื่อไหร่?
จากนั้นก็ค่อยพิจารณา “เงื่อนไขการลงทุน” ว่าเราอายุเท่าไหร่ ชอบ สนใจ ถนัด สินทรัพย์ประเภทไหน มีประสบการณ์ลงทุนมั้ย มีเงินลงทุนมากน้อยแค่ไหน ต้องการผลตอบแทนรูปแบบใด เท่าไหร่ มีเวลาติดตามข่าวสารด้านการลงทุนมั้ย และที่สำคัญ... เมื่อมันขาดทุน เราจะยอมรับได้มากน้อยแค่ไหน แต่หากได้กำไร จะเพิ่มวงเงินลงทุนหรือไม่
ประเด็นสำคัญ คือ ต้องรู้ตัวว่าเรา “ยอมรับความเสี่ยงได้แค่ไหน?” เพราะจะตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีว่าทางเลือกลงทุนแบบไหนและสัดส่วนการลงทุนแบบใดที่จะเหมาะกับเรามากที่สุด เช่น ถ้ารับความเสี่ยงได้ต่ำ (Conservative) แสดงว่ายอมรับความผันผวนได้น้อย หรือแทบจะไม่ได้เลย ซึ่งการลงทุนส่วนใหญ่จึงมุ่งไปที่การพยายามรักษาเงินลงทุนให้ปลอดภัยที่สุด
แต่หากรับความเสี่ยงได้ปานกลาง (Moderate) แสดงว่ายอมรับความผันผวนได้บ้าง แต่ต้องไม่มากจนเกินไปเพื่อแลกกับการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น ขณะที่หากรับความเสี่ยงได้สูง (Aggressive) แสดงว่าไม่กังวลกับความผันผวน เพราะหวังจะได้รับผลตอบแทนที่สูง รวมถึงโอกาสที่เงินลงทุนจะเติบโตด้วย
2 รู้จักทางเลือกลงทุน
เมื่อเราเริ่มรู้จักตัวเองมากขึ้น ก็ต้องทำความรู้จักกับสิ่งที่เราจะลงทุนด้วย เพราะนอกจาก “เงินฝากธนาคาร” ก็ยังมีอีกหลายทางเลือกมาก แต่เพื่อไม่ให้ปวดหัวจนเกินไป เรายังไม่ต้องทำความรู้จักกับทางเลือกทั้งหมดของโลกในตอนนี้ก็ได้ แค่ตั้งต้นจากทางเลือกลงทุนหลัก 6 ประเภท ดังนี้
3 วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและเทคนิค
ไม่ว่าเราจะลงทุนในทางเลือกลงทุนหรือสินทรัพย์อะไรก็ตาม เราก็ควรเข้าใจ “ปัจจัยพื้นฐาน” ที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะราคาจะขึ้นลงตามปัจจัยที่มากระทบ ซึ่งเราสามารถใช้การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานมากำหนดกรอบการลงทุนให้แคบลง ด้วยวิธีง่ายๆ คือ ดูภาพรวมเศรษฐกิจว่าปัจจุบันเป็นอย่างไรและมีแนวโน้มที่ดีในอนาคตหรือไม่ จะส่งผลกระทบกับแต่ละสินทรัพย์หรือแต่ละอุตสาหกรรมในเชิงบวกหรือเชิงลบอย่างไร เพื่อค้นหาสินทรัพย์ที่น่าสนใจลงทุน เราจะได้มาวิเคราะห์แนวโน้มการเติบโตของสินทรัพย์นั้นๆ ว่า ถ้าเราลงทุนไปแล้ว มีโอกาสจะได้กำไรในอนาคตหรือไม่นั่นเอง
หลังจากค้นพบสินทรัพย์ที่น่าสนใจลงทุนแล้ว ก็ต้องนำราคาตลาดของสินทรัพย์ดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์นั้น เพื่อดูว่า... ราคาสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น หรือ ราคาต่ำเหมาะสมที่จะลงทุน และใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ “ปัจจัยเทคนิค” เป็นตัวช่วยกำหนดจุดซื้อ-จุดขาย เพื่อให้ประสบผลสำเร็จในการลงทุน
4 สร้างพอร์ตและจัดทำคัมภีร์ลงทุน
ถึงแม้เราเริ่มรู้จักทางเลือกลงทุนและรู้จักวิธีวิเคราะห์มากขึ้น ก็อย่าเพิ่งใจร้อนรีบลงทุนเลย เพราะการลงทุนที่ดี และประสบความสำเร็จจะต้องมี “การสร้างพอร์ตลงทุนที่เหมาะกับตนเอง” ซึ่งพอร์ตการลงทุนที่ดีนั้น ต้องกระจายความเสี่ยงได้อย่างสมดุล ไม่ใช้เงินจำนวนมากลงทุนในสินทรัพย์เดียวจนหมด แต่ก็ต้องไม่หลากหลายหรือกระจายจนเกินไป เพราะจะทำให้เราติดตามดูแลยาก
รวมทั้ง ต้องมีความยืดหยุ่น สามารถเปลี่ยนแผนลงทุนให้เข้ากับสถานการณ์ได้ และ มีสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะกับเป้าหมาย โดยเราอาจแยกพอร์ตลงทุนตามเป้าหมาย เพื่อจะได้กำหนดสัดส่วนของสินทรัพย์เสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และระดับอัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลงทุนนั้นๆ
เมื่อมีแนวทางการจัดสรรเงินลงทุนที่แน่นอนแล้ว อย่าลืม... เขียนคัมภีร์การลงทุนหรือ “นโยบายการลงทุน” ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร สำหรับใช้เป็นกรอบในการตัดสินใจลงทุนด้วย ซึ่งควรปรับปรุงนโยบายการลงทุนให้เป็นปัจจุบันเสมอ
5 ลงมือทำตามแผน
และแล้วก็มาถึงช่วงเวลาที่เรารอคอย อันดับแรกเลยเราก็ต้อง “เปิดบัญชี” เพื่อใช้ในการซื้อหรือขายก่อน ซึ่งกรณีลงทุนหุ้น ETF ตราสารหนี้ DW หรืออนุพันธ์ ต้องเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “โบรกเกอร์” ส่วนการลงทุนในกองทุนรวม การเปิดบัญชีครั้งแรก ต้องเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แต่ละแห่ง หรือตัวแทนขายของ บลจ. แต่ครั้งถัดๆ ไป ก็จะซื้อขายสะดวกมากขึ้น เพราะซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ตได้เลย
“แล้วจำนวนเงินลงทุนเริ่มต้นล่ะ... ต้องมีเท่าไหร่”
อันนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับราคาและจำนวนของหุ้นที่เราต้องการลงทุน เช่น อยากได้หุ้นราคา 5 บาท โดยปกติแล้วต้องซื้อขั้นต่ำ 1 Board Lot หรือ 100 หุ้น ก็เท่ากับเราต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำ 500 บาท แต่ยังมีค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่เราต้องจ่ายให้กับโบรกเกอร์ด้วย หรือถ้าอยากทุนในกองทุนรวม ปัจจุบันเงินลงทุนขั้นต่ำในการซื้อกองทุนรวมน้อยมาก บางกองไม่มีขั้นต่ำในการลงทุนเลยด้วยซ้ำ นั่นหมายความว่า 1 บาทก็เริ่มต้นได้แล้ว แต่ถ้าจะให้ชัวร์อาจสอบถามจาก บลจ. ดูอีกทีก็ได้
6 ติดตามและทบทวนแผนการลงทุนสม่ำเสมอ
เมื่อเริ่มลงทุนไปแล้ว เราต้องขยันเข้ามาติดตามผลกันหน่อยนะ อาจจะทุก 6 เดือน หรือ 1 ปีก็ได้ แล้วแต่ความสะดวก โดยดูว่าผลตอบแทนที่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้แล้วหรือยัง หากไม่ เราก็จะได้ “ปรับพอร์ตการลงทุน” ได้ทันเวลาอันสมควรด้วย
ขอคุณข้อมูลจาก : setinvestnow.com (https://www.setinvestnow.com/th/beginner/6things-beginner-needs-to-know)
|